The volume of the water
ปริมาตรน้ำ
The volume of the water from witaya junma on Vimeo.
เมื่อปริมาตรไม่ได้มีไว้แค่บอกขนาดของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ค่าของมันอาจอยู่ตรงที่ความตั้งใจของคนๆนึงที่พยายามคิดวางแผนเผื่อช่วยเหลือคนส่วนมากในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ผลงานชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจากพระราชบันทึก THE RAINMAKING STORY ในหนังสือพระบิดาแห่งฝนหลวงตอนหนึ่งว่า
“ ขณะนั้นข้าพเจ้าได้แหงนดูท้องฟ้า และพบว่ามีเมฆจำนวนมาก แต่เมฆเหล่านั้นพัดผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป วิธีแก้ไขอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้เมฆเหล่านั้นตกลงมาเป็นฝน ”.
หนังสือ พระบิดาแห่งฝนหลวง (books)
http://www.royalrain.go.th/royalrain/uploads/ebook/books/index.html#/0 |
ข้อมูลจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร (royalrain reports)
http://www.royalrain.go.th/royalrain/reports |
และนั่นคือต้นกำเนิดของโครงการพระราชดำริฝนหลวง โครงการที่เล็งเห็นความสำคัญของผู้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภคและเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การแก้ไขจึงต้องมีการวางแผนระยะยาวมีการทดลอง ทดสอบหลายปี จนประสบความสำเร็จได้ปริมาณของน้ำที่ตกลงมาเป็นฝนสะสมลงอ่างเก็บน้ำเพื่อบรรเทาความทุกข์ให้กับราษฎร
ผลงานใช้ข้อมูลของปริมาตรน้ำที่เก็บได้ในอ่างเก็บน้ำและถูกบันทึกไว้จากปฏิบัติการฝนหลวงในรอบหลายปี มาเป็นตัวแปรควบคุมแสงสว่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยที่ตัวผู้ชมเองเป็นคนกำหนดระดับน้ำที่ถูกเทียบอัตราส่วนไว้
การเทน้ำเข้าไปในส่วนที่กำหนดไว้ของผลงานเพื่อดูข้อมูลของระดับน้ำที่สะสมจึงอาจไม่ใช่การมองเห็นตัวเลขธรรมดา เพราะปริมาตรของน้ำเหล่านั้นเดินทางมาจากวิสัยทัศน์ของคนๆหนึ่งที่ไม่ได้มองเห็นเมฆบนท้องฟ้าแล้วรู้สึกว่าแค่สวยงามหรือว่างเปล่า แต่กลับมองเห็นมากกว่านั้นคือการจะนำเมฆเหล่านั้นมาทำประโยชน์อะไรให้ผู้อื่นได้บ้าง ปริมาณของน้ำที่ปรากฏในผลงานจึงอาจเป็นความงามที่มีความหมายที่ถูกแทนค่าออกมาให้เห็นได้จริง
จัดแสดงในนิทรรศการ"ดิน น้ำ ป่า ฟ้า แรงบันดาลใจจากพ่อ"
10 สิงหาคม – 12 พฤศจิกายน 2560
ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร